วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการห้องสมุดเชิงรุก

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการห้องสมุดเชิงรุก
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทอย่างกว้างขวางในทุกวงการ และเทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำงานทุกด้าน นับตั้งแต่ทางด้านการศึกษา พาณิชยกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณสุข การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนด้านการเมืองและราชการ จะเห็นได้ว่าไม่มีงานด้านใดที่ไม่ใช้ผู้คิดประยุกต์หรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วยให้การทำงานนั้น ๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาทในวงการห้องสมุดอย่างแพร่หลาย
ข้อมูลกับสารสนเทศ
ข้อมูล (Data) หมายถึง กลุ่มตัวอักขระที่เมื่อนำมารวมกันแล้วมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งและมีความสำคัญควรค่าแก่การจัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในโอกาสต่อ ๆ ไป ข้อมูลมักเป็นข้อความที่อธิบายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่สามารถนำไปประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้ (ทักษิณา สวนานนท์ และฐานิศรา เกียรติบารมี 2546: 165)
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับการสรุป คำนวณ จัดเรียง หรือประมวลแล้วจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ จนได้เป็นข้อความรู้ เพื่อนำมาเผยแพร่และใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 2538: 3)
ข้อมูลและสารสนเทศนับว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปใช้บริหารงานด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น
1. ด้านการวางแผน สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการองค์การ การบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ กระบวนการผลิตสินค้า การตลาด เป็นต้น
2. ด้านการตัดสินใจ สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อเลือกแนวทางหรือทางเลือกที่มีปัญหาน้อยที่สุดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ การมีสารสนเทศที่สมบูรณ์ ทันสมัย และครบถ้วนจะช่วยให้การตัดสินใจถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ด้านการดำเนินงาน สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ใช้เพื่อควบคุมหรือติดตามผลการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายขององค์การ
การบริการห้องสมุด
     ห้องสมุดมีบทบาทสำคัญ ในการจัดเก็บรวบรวมและเผยแพร่ หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิคส์ทางวิชาการต่าง ๆ ไปสู่ผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้มีการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต และการที่ห้องสมุดจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้นั้น จะต้องมีบทบาทหลักอยู่ 2 ประการ คือ
1. การเข้าถึง ห้องสมุดจะต้องเป็นแหล่งให้ผู้เรียน/ประชาชน/ผู้ใช้บริการ ส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูล หรือไปใช้บริการได้
2. การนำเสนอวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่คุ้มค่า คือจะต้องรู้ว่าผู้เรียน/ประชาชน/ ผู้ใช้บริการมีวัตถุประสงค์อะไรในการใช้ห้องสมุด ส่วนใหญ่แล้วผู้เข้าใช้บริการจะใช้ห้องสมุดเพื่อ ความเจริญก้าวหน้าในด้านอาชีพของตน เพื่อพัฒนาความรู้ในการเรียน การทำงานทักษะ และความสามารถของตนเองในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์เข้ามากระทบห้องสมุด คือมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากขึ้น ผู้ใช้มีความต้องการใช้สารสนเทศอย่างสะดวกสบาย และที่สำคัญคือมีขุมความรู้มากมายมหาศาลที่จัดเก็บในรูปหนังสือ สิ่งพิมพ์ไม่ได้อีกแล้วแต่จะจัดเก็บในรูปอิเล็กทรอนิคส์ หรือในรูปดิจิทัลทำให้ห้องสมุดต้องก้าวออกมาจากการเป็นห้องสมุดที่จัดเก็บเฉพาะสิ่งพิมพ์ ไปเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิคส์หรือห้องสมุดดิจิทัลมีข้อมูลจำนวนมากที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งต้องส่งผ่านระบบเครือข่าย ดังนั้น ห้องสมุดจะต้องเตรียมอุปกรณ์จัดเก็บ (Storage)สำหรับบันทึกข้อมูลจำนวนมาก และมี
ชอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการจัดการ ข้อมูลดิจิทัล การบริหารเนื้อที่การจัดเก็บข้อมูล การสืบค้น และการเข้าถึงข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลและการบริหารด้านลิขสิทธิ์
แนวโน้มของห้องสมุดในอนาคต นอกจากจะยังคงมีทรัพยากรสารสนเทศในรูปสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีสารสนเทศในรูปอิเล็กทรอนิคส์หรือดิจิทัล ห้องสมุดจึงเป็นศูนย์รวมของสารสนเทศในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นและเข้าถึงได้มากขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยี เพื่อการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูล และการพัฒนารูปแบบการบริการจึงมีความสำคัญในการดำเนินงานของห้องสมุดยุคใหม่ จากการวิเคราะห์สถานภาพและบทบาท ตลอดจนภาพในอนาคตของห้องสมุดแล้วพบว่าห้องสมุดมีจุดแข็ง คือ
1. การเข้าถึง คือ ห้องสมุดจัดเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้แบบต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิด และควรทำคือ เวลาที่ให้บริการต้องมากกว่าเวลาทำการของราชการ และความเชี่ยวชาญในการจัดการแหล่งวิทยาการต่าง ๆ ด้วย ระบบรายชื่อหนังสือ (บรรณานุกรม), และระบบดรรชนีต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถช่วยเหลือตนเองในการสืบค้นข้อมูลได้ รวมทั้งการนำเสนอที่ดึงดูดใจ
2. เครือข่าย ห้องสมุดควรคำนึงถึง โครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการเตรียมระบบที่ดีไว้เพื่อการบริการอย่างเต็มที่และคุ้มค่า เพื่อให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่กว้างไกล ด้วยบริการออนไลน์ และระบบเครือข่ายระหว่างประเทศ หรือInternetในด้านการให้บริการแก่ผู้ใช้ ห้องสมุดควรจัดทำ Home page ของตน โดยจัดทำเป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้เข้าระบบได้ง่าย และควรมีศูนย์กลางซึ่งจัดทำสารบัญ (Directory) ของ Home page ของห้องสมุดทุกแห่งที่อยู่ในเครือข่ายไว้ในที่เดียวกัน
3. ความเชี่ยวชาญ บรรณารักษ์จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการจัดการ และการสร้างชุดความรู้ ต้องทราบถึงประเภทของสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อจัดให้เหมาะสมกับผู้ใช้ ควรมีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงแหล่งวิทยาการ ชนิดและประเภทต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันในการตอบคำถามทุกวิชา และทุกระดับ ต้องมียุทธศาสตร์ในการค้นหาที่มีประสิทธิภาพ และความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้นในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น ห้องสมุดในอนาคต จะมีขนาดเล็กลง (Physical Size)และมีความพอเหมาะ (Right Size)มีการบริการแบบเครือข่าย (Service on Network)กระจายการดำเนินการอยู่บนพื้นฐานขุมความรู้ ที่มีมากกว่า หนังสือสิ่งพิมพ์ ระยะทางการให้บริการหมดความหมาย กรอบการทำงานกว้างไกล (Internet) และขุมความรู้มีมากมายมหาศาล ดังนั้นบรรณารักษ์ทุกคน ควร "ร่วมแรง ร่วมใจ " ทำให้ห้องสมุดสามารถไปถึงภาพอนาคตนี้ได้ สังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตามหลักการและเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
การบริการเชิงรุก (Proactive Service)
การบริการเชิงรุกเป็นการวางแผนการในการให้บริการผู้ใช้ห้องสมุดล่วงหน้า อย่างละเอียดและรอบคอบ มีความรับผิดชอบ  รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงความต้องการและปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ใช้โดยไม่รีรอให้ผู้ใช้ร้องขอ โดยผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ใช้และให้ผู้ใช้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด   โดยยึดแนวปฏิบัติ 4 ประการในการสร้างบริการเชิงรุก ดังนี้
1.       การวางแผน คือ การหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า จะทำอะไร ทำไมต้องทำ จะทำอย่างไร จะทำเมื่อใด จะทำที่ไหน จะให้ใครทำ จะต้องใช้ทรัพยากรอะไร
2.       การเน้นผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง 
3.       จิตสำนึกในการบริการ  หรือ   การบริการด้วยหัวใจ
4.       ทักษะ    ความรวดเร็ว  ความชัดเจน และความทันสมัยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
                                จากแนวปฏิบัติการทำงานบริการเชิงรุกทั้ง 4 ด้าน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานทางด้านการบริการห้องสมุดมีความรู้และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นทักษะ  และลดปัญหาขณะปฏิบัติงานได้ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงาน ไม่หลีกหนีปัญหา สามารถรับมือกับปัญหาทางด้านงานบริการได้ และนำมาซึ่งความพึงพอใจของผู้ใช้บริการตลอดไป

แนวโน้มของห้องสมุดอุดมศึกษา
1.      ทรัพยากรสารสนเทศ
1.1      ห้องสมุดต้องสร้างคลังเก็บ จาก “Just in Case”  (เก็บไว้เผื่อจะมีการใช้)  ไป
ยัง “Just in Time” (เก็บเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน) หมายถึงนำออกบริการ 1 copy ที่เหลือเก็บไว้ที่คลังเก็บที่ใดที่หนึ่ง
1.2      มีศูนย์กลางเก็บหนังสือที่มีการใช้น้อย หรือไม่มีการใช้ (RepositoryLibrary)
1.3      มีระบบการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Sharing Resource System) ให้ได้มากที่สุด
หรือทุกประเภท ลักษณะเป็นบริการยืม-คืนร่วมกัน
1.4      รวบรวมผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมผลงาน
ที่มีคุณค่าของอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และเอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย และแปลงเป็นรูปดิจิทัลฉบับเต็มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว อาทิ แปรสภาพหนังสือ สิ่งพิมพ์ของสถาบันเป็น
e-Book
2.      งบประมาณ
2.1      แนวโน้มลดลงตลอด
จากรายงานของ Chronicle of Higher Education (ของสหรัฐอเมริกา) งบประมาณสำหรับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ในปี 2009 ลดลง 18.7 %
2.2      หาทุน (Fund Raising)  
บรรณารักษ์ ประสานคณะ หรือหน่วยงาน ภายในหรือภายนอก เพื่อหาทุนมาสนับสนุนกิจกรรม/ อาทิการออกร้านจำหน่ายหนังสือในงานสัปดาห์ห้องสมุด เข้าร่วมประกวดกิจกรรมของสถาบันเพื่อนำรางวัลที่ได้มาสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น กิจกรรม 5 ส การจัดทำการจัดการความรู้(KM) การบริหารความเสี่ยง และการเข้าร่วมข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายนอก ฯลฯโครงการพิเศษในสหรัฐอเมริกา  บรรณารักษ์ในห้องสมุดอุดมศึกษาบางแห่งมีหน้าที่จัดกิจกรรมหาทุนเสริมเพื่อการดำเนินงานห้องสมุด
3.      เทคโนโลยี
3.1      เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากมีผลกระทบต่อการบริการของห้องสมุด
โดยเฉพาะเครื่องใช้ใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ (Smart Phones), e-Book Readers, IPods อุปกรณ์เหล่านี้เป็นตัวเร่งให้นักศึกษามีความต้องการใช้บริการอุปกรณ์ทันสมัยจากห้องสมุด  จากการสำรวจของ ECAR สำรวจนักศึกษาปริญญาตรี 51.2 %  ของนักศึกษามีอุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ครอบครอง และระบุความต้องการใช้บริการ e-mail ของสถาบัน ติดต่อกับบริการของฝ่ายบริหาร  การใช้บริการห้องสมุดโดยผ่านโทรศัพท์มือถือของตน ห้องสมุดจึงมีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึง โดยเพิ่มกระบวนการให้บริการออนไลน์ อาทิ การใช้ Social Network : Facebook องค์กรต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุน บรรณารักษ์ต้องมีบทบาทในการนำเสนอการใช้งบประมาณต่อผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการใช้งบประมาณออนไลน์ไม่ใช่การใช้งบประมาณโดยไร้ประโยชน์
3.2      บุคลากรห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี
3.3      โปรแกรมปริญญาบรรณารักษศาสตร์ (Graduate LIS Program) ต้องมีการ
เปลี่ยนแปลงหลักสูตร มีวิชาใหม่ๆ และเกี่ยวข้องกับวิชาชีพและเทคโนโลยี เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาคือผู้เรียนจบหลักสูตรแล้วไปทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่ได้เรียนวิชาชีพทางเทคโนโลยีไม่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
4.      โครงการ Digitization
ทำให้หนังสือที่ถูกซ่อนอยู่ หรือไม่มีผู้ใช้ (ในสถาบันนั้นๆ)  จะถูกนำมาอยู่บนระบบเครือข่ายที่นักวิจัย นักวิชาการ มีโอกาสใช้กันทั่วไป หรือทั่วโลก  แนวโน้มมีโครงการ digitization ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมากขึ้น  เปิดโอกาสเข้าถึงข้อมูลมีค่ามากขึ้นและทั่วไป
ตัวอย่าง :              1.  โครงการ The California Local History Digital Resources
                                     Project ห้องสมุดเข้าร่วม 65 แห่ง
2.       Digitization of American Civil War หนังสือหายาก 5,000 ชื่อ
เรื่อง  โดยสมาชิกของสมาคมห้องสมุดวิจัย ภาคตะวันออก
เฉียงใต้ของอเมริกา 
ห้องสมุดส่วนใหญ่จัดแนะนำบางส่วนเท่านั้น อาทิ แนะนำหนังสือใหม่ และ10อันดับยอดนิยม เป็นต้น ห้องสมุดควรประชาสัมพันธ์หน้า Website ให้มีหน้าสารบัญสารสนเทศต่างๆทั้งของใหม่และที่อยู่ในระยะเวลา 5 ปี
5.      ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
5.1      ความร่วมมือกับหลักสูตรการเรียนการสอน
5.2      ความร่วมมือกับหน่วยบริการนักศึกษา
5.3      ความร่วมมือกับบรรณารักษ์สถาบันอื่นๆ  เพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกัน 
เพื่อการจัดการ e-resources  เพื่อการจัดหาทรัพยากรร่วมกัน  เพื่อการจัดทำ Digitization ร่วมกัน  เพื่อการสร้างศูนย์กลางที่เก็บทรัพยากรที่ใช้น้อยหรือไม่ใช้  เป็นต้น
6.      บทบาทของห้องสมุดกับกฎหมายลิขสิทธิ์
6.1      ความพยายามของห้องสมุดที่จะให้ความรู้แก่อาจารย์และนักศึกษาให้รักษา
สิทธิของงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ  และขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิของงานเขียนและงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น
6.2      การคัดเลือกงานเขียนและงานสร้างสรรค์เพื่อเข้าโครงการดิจิทัล
บรรณารักษ์ต้องเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อการสื่อสาร และเจรจากับผู้เป็นเจ้าของ  จึงต้องมีบรรณารักษ์ชำนาญการด้านการสื่อสาร หรือพนักงานลิขสิทธิ์ (Copyright Officer) การให้บริการต่างๆที่เสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธ์ อาทิ บริการถ่ายเอกสารเป็นการส่งเสริมให้ทำซ้ำควรหาแนวทางป้องกัน ในกรณีที่มีบริษัทภายนอกมาดำเนินการโดยระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าหากเกิดข้อพิพาทบริษัทต้องรับผิดชอบ หรือมีแบบฟอร์มสำหรับผู้ใช้โดยมีข้อความระบุข้อกำหนดให้ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบและการจัดทำแนะนำหน้าสารบัญหนังสือหน้า Website ของหน่วยงานควรมีขนาดเล็กและติดสันพร้อมบาร์โค้ดแสดงความเป็นเจ้าของอย่างถูกต้องแล้ว การทำสำเนาสื่อโสตทัศน์
กรณีมาพร้อมหนังสือทำสำเนาได้ 1 Copy ส่วนด้านบันเทิงทำสำเนาไม่ได้ การทำสำเนาทำได้เฉพาะเพื่อไม่ให้ต้นฉบับศูนย์หายเท่านั้น
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธ์กรณีทั่วไป
การกระทำต่องานลิขสิทธ์จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
              -ไม่ขัดต่อการแสวงประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์
              -ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
           1. การศึกษาวิจัย
           2. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยรับรู้การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
           3.เสนอรายงานข่าวทางสื่อมวลชนโดยรับรู้การป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
7.      ห้องสมุดจะกลายเป็น “Hub” สำหรับการบริการพิเศษ
ห้องสมุดอุดมศึกษาหลายแห่งจัดให้มีบริการพิเศษเฉพาะด้านขึ้นในห้องสมุด และแนวโน้มมีเพิ่มมากขึ้น  ห้องสมุดจึงกลายเป็น “Hub” ของบริการเหล่านี้
7.1      ศูนย์การติว  (Tutoring Centers)
7.2      ศูนย์การฝึกการเขียน  (Writing Centers)
7.3      ห้องศึกษาเป็นกลุ่ม  (Group Study Room)
7.4      ห้องการศึกษาทางไกล  (Distance Learning Room with access to Video Conferencing Software)
7.5      ห้องบริการกาแฟและอาหารว่าง  (Café and Light Dining Venue)
7.6      ห้องพักผ่อนอาจารย์และนักศึกษา (Student and Faculty Lounges)
7.7      แกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ  (Art Galleries)
8.      Commons จะกลายเป็น หัวใจและวิญญาณ ของห้องสมุดอุดมศึกษา
8.1      Information Commons, Intellectual Commons, an Electronic Commons หรือ an e-Commons
8.2      Commons model เป็นการผสมผสานของการบริการเทคโนโลยี
คอมพิวเตอร์ และการบริการข้อมูลห้องสมุดแบบเก่า รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยแบบเก่า
8.3      Commons ให้บริการเหมือน “Hub” ที่นักศึกษามาพบกัน  รวมกัน  แลกเปลี่ยนความคิดกัน
ร่วมมือกัน  และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จัดไว้ให้บริการ
8.4      ปัจจุบัน Commons ได้ละลาย กฎ ระเบียบต่างๆ ของห้องสมุด  ใน Common area  ใครจะพูด
ก็พูด  ไม่มีใครห้าม  อาหารและเครื่องดื่มนำไปรับประทานและดื่มได้  สนับสนุนให้ร่วมมือจัดทำกิจกรรมต่างๆ บางห้องสมุดในพื้นที่นี้จะมีตู้เครื่องดื่มและขนมไว้บริการ
9.      การออกแบบห้องสมุดอุดมศึกษา
จะมีความเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนการออกแบบห้องสมุดสมัยก่อน เพราะต้องคำนึงถึงพื้นที่
สำหรับดิจิทัล พื้นที่สำหรับการบริการพิเศษเฉพาะอย่าง เช่น ศูนย์การติว  ศูนย์ฝึกหัดการเขียน  ห้องเรียนทางไกล  ห้องประชุม  Common Area เป็นต้น
10.    คำจำกัดความของห้องสมุดจะเปลี่ยนไป 
10.1      สถานที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการบริการด้านดิจิทัลมากขึ้น
10.2      มีการให้บริการถึงแหล่งข้อมูลทางออนไลน์มากขึ้น
10.3      จำนวนหนังสือในห้องสมุดน้อยลง ลดจำนวนวารสาร เพราะฐานข้อมูล
วารสารออนไลน์แทนที่
10.4      หนังสือที่มีการใช้น้อยถูกนำไปเก็บไว้ที่ storage หรือจำหน่ายออก
10.5      พื้นที่สำหรับนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น
10.6      แต่ความคิดสำหรับ “Library as Place”  ก็ยังคงมีความสำคัญสำหรับ
นักศึกษา  นักวิจัย  คณาจารย์  และผู้ใช้บริการทั่วไปอยู่    
นิยามใหม่ของห้องสมุดในยุคปัจจุบัน
เปลี่ยนชื่อ อาทิ   หอสมุดและคลังความรู้   สำนักบรรณสาร   สำนักวิทยบริการ    ศูนย์สารสนเทศ
ศูนย์สนเทศ   สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ   สำนักวิทยทรัพยากร   ห้องสมุด, หอสมุด
ห้องสมุดมีการปรับเปลี่ยนบทบาทภาระหน้าที่
ห้องสมุด, หอสมุด  คลังความรู้ -จัดการความรู้, บริหารจัดการส่วนจดหมายเหตุ, คลังเอกสารสถาบัน
               1. ผลิตสื่อเรียนรู้ Online/Offline
               2. บริหารจัดการด้านไอซีที
               3. บริการ/สนับสนุน/พัฒนางานวิจัยหมายถึง ห้องสมุดสนับสนุนการทำวิจัย ห้องสมุดทำวิจัยและห้องสมุดเป็นฐานการทำวิจัย
                4. การให้บริการปรับเปลี่ยนเป็นเชิงรุกให้ผู้ใช้เข้าถึงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนได้ทุกแห่งหน โดยหากลวิธีการให้ใช้ประโยชน์จากสารสนเทศให้มากที่สุด อาทิ ฐานข้อมูลออนไลน์ กับ e-Book ต้องประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ทำแผ่นพับวิธีการใช้แจกหน้าห้องสมุด แนะนำทาง Website ของห้องสมุด อบรมวิธีการใช้ทั่งทางออนไลน์และห้องปฏิบัติการ และจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านมีกิจกรรมการใช้ฐานข้อมูลและ
e-Book ร่วมด้วย
                5. ภาระงานแต่ละบุคคลในห้องสมุดเพิ่มขึ้นต้องทันสมัยและเรียนรู้เทคโนโลยี โดยมีหน่วยบริการที่เกิดจากสายงานที่เกี่ยวข้องกับนิยามใหม่ขึ้น อาทิ สายงาน KM สายงาน e-Learning และสายงานลิขสิทธิ์
                6. ตำแหน่งงาน โครงสร้างองค์กร ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ แนวทางการพัฒนาบุคลากรปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารทุกระดับในองค์กรและความร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายและแต่ละบุคคลสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

สรุป
การให้บริการเชิงรุก
1.       ประสบความสำเร็จต้องบริการตอบผู้ใช้ได้ตรงตามความต้องการ
2.       ไม่สร้างความเสี่ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการห้องสมุด



บรรณานุกรม
การบริการห้องสมุด. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2553, จาก http://www.unc.ac.th/lib/web lib/lib
             Future.html
เทคโนโลยีสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2553, จาก http://dusithost.dusit.ac.th/~
             librarian/it107/C1.html, http://www.ranong2.dusit.ac.th/KM&R/tec2.doc
สุวคนธ์ ศิริวงค์วรวัฒน์.  (2553).  แนวโน้มของห้องสมุดอุดมศึกษา.จากการอบรมสัมมนา
 ACRL Research Planning and Review Committee.  (2010, June).  “2010 Top Ten
Trends in Academic Libraries, A Review of the Current Literature.”  C & RL
News,  pp. 286 – 292.
Matarazzo, James M.  (2001, March).  “Library Trends.”  Journal of
Documentation, 57, 2.  pp. 324 – 325.
Sens, Thomas.  (2009, December).  “12 Major Trends in Library Design.”  Building
Design – Construction, pp. 38 – 42.

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Applied ICT for Executive Librarians

                               Applied  ICT  for Executive Librarians

แนวโน้มของห้องสมุดอุดมศึกษา เสวนาโดย อาจารย์สุวคนธ์ ศิริวงศ์วรวัฒน์   อาจารย์ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ  
ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ดำเนินรายการโดยคุณสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาห้องสมุดต้องคำนึงถึง ทิศทางของมหาวิทยาลัย นโยบาย ที่จะพัฒนาในอนาคตต้องสอดคล้องกัน
                แนวโน้มของห้องสมุดอุดมศึกษาในด้านต่างๆ
1. ทรัพยากรสารสนเทศ  รวบรวมผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และผลงานที่มีคุณค่าเช่น เอกสารจดหมายเหตุนำมาแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลฉบับเต็มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว มีระบบการใช้ข้อมูลร่วมกัน เป็นห้องสมุดไร้หิ้งหนังสือ เป็นต้น
2. งบประมาณ หาทุน บรรณารักษ์ประสานหน่วยงานภายในหรือภายนอกเพื่อหาทุนมาสนับสนุนกิจกรรม
3. เทคโนโลยี เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บุคลากรห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี และโปรแกรมการเรียนวิชาบรรณารักษศาสตร์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร มีวิชาใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
4. โครงการ Digitization ทำให้หนังสือที่ไม่มีผู้ใช้จะถูกนำมาอยู่บนระบบเครือข่ายที่นักวิจัย นักวิชาการมีโอกาสใช้กันทั่วโลก
5. ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดเช่น ภายในสถาบันความร่วมมือกับหลักสูตรการเรียนการสอน หน่วยบริการนักศึกษา ภายนอกสถาบันความร่วมมือกับบรรณารักษ์สถาบันอื่นๆ
6. บทบาทห้องสมุดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ ห้องสมุดต้องให้ความรู้กับผู้ใช้บริการในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ และควรมีบรรณารักษ์ชำนาญการด้านการสื่อสารหรือนักกฎหมายลิขสิทธิ์
7. ห้องสมุดจะกลายเป็น Hab สำหรับการบริการพิเศษ เช่น ศูนย์การติว ศูนย์การฝึกการเขียน ห้องศึกษาเป็นกลุ่ม ห้องการศึกษาทางไกล ห้องบริการกาแฟและอาหารว่าง เป็นต้น
8. Commons จะกลายเป็นหัวใจและวิญญาณของห้องสมุดอุดมศึกษาเป็นการผสมผสานของการบริการเทคโนโลยี บริการข้อมูล ผู้ใช้บริการมาพบกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดกิจกรรมร่วมกัน ร่วมมือและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่จัดไว้บริการ
9. การออกแบบห้องสมุดอุดมศึกษา จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงพื้นที่สำหรับการบริการด้านข้อมูลดิจิทัล การบริการพิเศษ เช่น ห้องเรียนทางไกล ศูนย์การติว
10. คำจำกัดความของห้องสมุดจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการบริหารจัดการภายในห้องสมุดเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป จำนวนหนังสือลดน้อยลง มีการให้บริการแหล่งข้อมูลออนไลน์มากขึ้น เช่นสถาบันวิทยบริการ
นโยบายเพื่อการเก็บข้อมูล ในประเด็น Taxonomy & Ontology และ Data Mining โดย คุณสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ และ อาจารย์รังสิมา เพ็ชรเม็ดใหญ่ ได้กล่าวถึงเทคโนโลยี Text Mining/Data Mining โดยห้องสมุดหาข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมาจาก OPAC เพื่อ Mining เช่น ผู้ใช้บริการมาใช้บริการห้องสมุดช่วงเวลาไหนมากที่สุด
หนังสือหมวดหมู่เท่าไรได้รับการใช้บริการมากที่สุดในแต่ละปีการศึกษา เป็นการจัดเก็บข้อมูล ตัวเลข เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการ การบริหารจัดการงานห้องสมุด
ส่วน Taxonomy และ Ontology เป็นการรวบรวมคำที่มีความสำคัญจัดกลุ่มออกมาให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดทำรายงานประเภทการจัดเตรียมข้อมูล ( ดิบ) เพื่อการ Mining

 นโยบายเกี่ยวกับ Digital content & Website โดยอาจารย์บุญเลิศ อรุณพิบูลย์กล่าวถึงสิ่งที่ควรคำนึงและควรศึกษาหาข้อมูล วางระบบแบบแผนให้ชัดเจน ถูกต้อง
1. งบประมาณ / กำลังคนที่จำกัดควรบริหารจัดการสอดคล้องกับนโยบายขององค์กรภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
2. ความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ เช่นสิทธิ์อันชอบธรรมในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
3. ลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
4. ความหลากหลายของระบบ
5. ข้อกำหนดมีการปรับเปลี่ยน
6. ตอบรับเทคโนโลยีอุบัติใหม่
7. การบริหารองค์กรยุคใหม่ / ภาพลักษณ์องค์กร


แหล่งอ้างอิง:- ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์สนเทศและหอสมุดมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

หมายเหตุ:- จากโครงการสัมมนา เรื่อง Applied ICT for Executive Librarians
วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2553 ณ ห้องประชุม 5-2 อาคารสำนักอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

ทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

             การบรรยายเรื่อง การลอกเลียนวรรณกรรมและกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยคุณภวัต เรืองยิ่ง จากบริษัทบุ๊คโปรโมชั่นแอนด์เซอร์วิส จำกัด กล่าวถึงความสำคัญและสาเหตุจูงใจให้เกิดการลอกเลียนวรรณกรรม และความตระหนักในวงการวิชาการ อาทิ แหล่งทุน สถาบันการศึกษา สำนักพิมพ์
ควรคำนึงถึง เจ้าของผลงานให้มากที่สุดในปัจจุบันความสะดวกด้านเทคโนโลยีทำให้มีการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นเพิ่มขึ้น จึงควรระมัดระวังในการนำมาอ้างอิง
       วิธีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในการอ้างอิง (Plagiarism Methods)
1.        การ Copy –Paste หรือการตัดบางส่วนออกควรวิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียงเนื้อใหม่ด้วยตนเอง
2.        การนำเนื้อหามาใช้บางส่วนควรอ้างอิงให้ถูกต้องไม่ควรนำมาคักลอกทั้งหมด
3.        งานแปลควรมีการอ้างอิงจากต้นฉบับ
4.        การนำเสนอรูปแบบมัลติมีเดียประกอบด้วยภาพและเสียงต้องมีศิลปะในการนำมาใช้อาจดูตัวอย่างการผลิตแล้วนำมาสร้างผลงานในรูปแบบใหม่โดยไม่มีผลกระทบกับเจ้าของผลงาน
5.        ควรมีความรู้ในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์
6.        การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคัดลอก Code ไม่ควรทำอย่างยิ่งควรศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานของตนเองเท่านั้น
7.        วิธีการอ้างอิงหากมีความจำเป็นต้องนำเนื้อหาจากต้นฉบับมามากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดต้องอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน
8.        การอ้างอิง การแปลความหมาย ความเข้าใจในเนื้อหาต้องถูกต้องและควรศึกษาให้ดีก่อนนำไปใช้

          การบรรยายเรื่อง การเขียนบทความวิชาการและเครื่องมือตรวจสอบความสามารถ ขีดจำกัดของเครื่องมือในปัจจุบันการป้องกันที่ถูกต้อง โดยคุณภวัต เรืองยิ่ง กล่าวถึงการใช้โปรแกรม
Turnitin  ในการตรวจสอบผลงานวิชาการก่อนนำออกเผยแพร่ ผลจากการตรวจสอบสามารถแสดงผลให้เห็นว่าเป็นการคัดลอกมาจากผลงานของผู้อื่นจะปรากฏสีแดงในส่วนนั้นๆ  แต่มีข้อจำกัดในการอ่าน File ภาพ เช่น File ที่เป็น PDF
          การเขียนให้ถูกต้องในการนำวรรณกรรมมาลอกเลียนแบบ
1.        เลือกเนื้อหานำมาสังเคราะห์เรียบเรียงด้วยตนเอง
2.        นำมาจากผลงานวิจัยเพราะจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
3.        อ้างอิงตามหลักเกณฑ์ให้ถูกต้อง


แหล่งอ้างอิง :-  บริษัท บุ๊คโปรโมชั่นแอนด์เซอร์วิส จำกัด ,www.plagiarism.org, http://www.turnitin.com/





หมายเหตุ:- จากโครงการสัมมนาเรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน           วิชาการ จัดโดย สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ วันที่ 10 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุม
สมภพ โหตระกิตย์ อาคารสำนักอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เข้าร่วมสัมมนา อาจารย์สุวคนธ์
 ศิริวงค์วรวัฒน์ อาจารย์สุพดี บรรจงแต้ม นางสาวิตรี แสงวิริยภาพ ณัฐสิทธิ์  พุฒิวิสารทภาคย์ นางจันทร์ฉาย
วีระชาติ นางปัทมาพร โพนไสว นางรุ่งนภา พื้นงาม นายระวิ มีเดช นางสาวชูชีพ มามาก และนางสาวขนิษฐา
ภมรพิพิธ